วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บ้านส้อง...บ้านฉัน

.............“บ้านส้อง” คือ “ตำบลเก่าแก่” ตำบลหนึ่งของอำเภอ “เวียงสระ” ในเขตการปกครองจังหวัด “สุราษฎร์ธานี” โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันได้ว่า เมืองนี้แต่เดิม เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดถึงอาณาจักร “ศรีวิชัย” เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมเวลานับได้พันกว่าปี
.............โดยมีหลักฐานที่สำคัญคือ โบราณสถาน “วัดเวียงสระ” อันเป็นที่ตั้งของ “เมืองโบราณเวียงสระ” อันมีลักษณะสำคัญคือ เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ พร้อมกับซากเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ในป่าโบราณอันรกชัฏ ซึ่งปรากฏเหลืออยู่เพียงซากเจดีย์โบราณ ที่มองเห็นเพียงแค่ซาก “กองอิฐ” ที่เก่าแก่จนไม่อาจสันนิฐานรูปร่างดั้งเดิมได้ ทั้งยังมีร่องรอยของ “สระน้ำโบราณ” อันเป็นที่มาของชื่ออำเภอ “เวียงสระ” กับซากพระพุทธรูปหินทรายแดงที่ปรักหักพังอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่เป็นหลักฐานอันหลงเหลืออยู่ใน “เมืองโบราณเวียงสระ” จนมาถึงทุกวันนี้
...............“เมืองโบราณวัดเวียงสระ” หรืออีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า “วัดเวียง” จึงเป็นสถานที่สำคัญแห่งแรก ที่ผมอยากจะแนะนำทุกท่านให้ไปเยี่ยมเยือนกันก่อนครับ ....


bansong 2


...........จากตัวเมืองสุราษฎร์ธานี โดยทาง "รถยนต์" ระยะทางประมาณ ๖๙ กิโลเมตร ถึงอำเภอเวียงสระ หรือจะเดินทางมาโดยทาง "รถไฟ" ไปลงที่สถานีรถไฟ “บ้านส้อง” แล้วต่อด้วยรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ไปยังหมู่ที่ ๗ ให้เลี้ยวเข้าไปยังถนนเส้นที่ติดป้ายบอกทางไปยัง “วัดเวียงสระ” จนสุดทาง ก็จะพบกับวัดเวียงสระ ตั้งอยู่สุดถนนเส้นที่ว่านั่นเอง.....
.............ปัจจุบัน “วัดเวียงสระ” มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปไม่มากนัก ด้วยความเจริญเติบโตทางเศรษกิจของเมืองที่เปลี่ยนทำเลไป ทำให้ปัจจุบัน วัดเวียงสระ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ๆ ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ห่างไกลออกมาจากความวุ่นวายของตัวเมืองอยู่พอสมควรทีเดียว จึงทำให้โบสถ์เก่า กุฎิ ศาลาต่าง ๆ ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ๆ เหมือนสมัยเมื่อเกือบร้อยปีก่อน พร้อม ๆ กับซากเมืองโบราณอายุกว่าพันปี ก็ได้ซุกซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบ ด้านหลังของ “วัดเวียงสระ"

bansong 3

bansong 4

......เชื่อกันว่าเมืองเวียงสระ มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ โดยมีหลักฐานยืนยันจากจดหมายเหตุจากเมืองจีน ที่กล่าวถึงการติดต่อกันทางราชทูตราวช่วง พ.ศ. ๙๖๗ คาดกันว่า เมืองเวียงสระ น่าจะตั้งขึ้นก่อนสมัยอาณาจักร "ศรีวิชัย" อันเป็นอาณาจักรโบราณที่สำคัญในแถบภาคใต้นี้ด้วยซ้ำ
.....นั่นก็เพราะว่าบริเวณนี้ ได้มีการค้นพบหลักฐานสำคัญทางด้านโบราณคดีมากมาย ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องมือศิลาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เทวรูปและพระพุทธรูปเก่าแก่ หลายยุคสมัยต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันนี้เองทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ชุมชนโบราณเมืองเวียงสระนั้น ได้มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง มีสภาพเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ดังจะเห็นจากการรู้จักสร้างกำแพงและคูเมือง โดยอาศัยลำน้ำธรรมชาติและขุดคลองเชื่อมต่อกัน นั่นทำให้แหล่งเมืองโบราณเวียงสระนี้ จึงมีความสำคัญทางด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ของแหล่งอารยะธรรมโบราณ ในดินแดนแถบภาคใต้อีกด้วย...

bansong 5

bansong 6

bansong 7


.........ปัจจุบัน ด้วยปัจจัยทางด้านการประชาสัมพันธ์ที่มีไม่มากนัก ประกอบกับสภาพของตัวเมืองโบราณเวียงสระเอง ที่คงสภาพเดิม ๆ เหมือนซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบ อันเกี่ยวเนื่องมาจากความเชื่อของชาวบ้านในละแวกนั้น ที่จะไม่เข้าไปยุ่งย่ามภายในเขตเมืองโบราณโดยไม่จำเป็น จึงทำให้ตัวเมืองโบราณเวียงสระ ยังคงได้รับการอนุรักษ์ในสภาพเดิม ๆ เหมือนอย่างเช่นที่นักสำรวจเมืองโบราณรุ่นแรก ๆ ได้ผ่านมาพบเจอ
..........ถึงแม้ว่าตัวเมืองโบราณเวียงสระในปัจจุบัน อาจจะไม่ใหญ่โต สมบูรณ์ กว้างขวาง หรือมีวัตถุโบราณอันสวยงามอย่างที่ใคร ๆ คาดหวัง แต่จุดเด่นของที่นี่ ก็คงอยู่ที่ตัวเมืองโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในป่าทึบ คงสภาพแบบดิบ ๆ เดิม ๆ เหมือนไม่เคยผ่านการบูรณะมาก่อน นี่จึงเป็นสาเหตุให้ก้าวแรก ของผู้ที่มีโอกาสเหยียบย่างลงบนผืนแผ่นดินโบราณแห่งนี้ จะได้สัมผัสกับบรรยากาศแห่งความเก่าแก่ ขรึมขลัง จนรู้สึกได้ อย่างที่ผมเคยรู้สึกในก้าวแรก ในการเดินทางมาเยี่ยมเยือนดินแดนแห่งบรรพบุรุษแห่งนี้ พร้อม ๆ กับความรู้สึกทึ่ง ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของผืนแผ่นดินแห่งนี้นั่นเอง…

*** อ้างอิงจาก ***

http://www.wiangsra.go.th/index.php?tpid=0019

http://www.suratculture.com/data/boransathan/buranvangsa.html

http://board.palungjit.com/showpost.php?p=584527&postcount=3

http://www.hs8jsk.th.gs/web-h/s8jsk/index4.htm

bansong 8

bansong 9

bansong 10


.........การเดินทางเข้าสู่ตำบล “บ้านส้อง” นั้นทำได้ไม่ยากเลย จากเส้นทางหลักด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ในเส้นทางช่วงระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช ก็จะเจอกับแยกที่มีป้ายชี้ทางให้ท่านเดินทางมาสู่ “บ้านส้อง” ได้อย่างชัดเจน (เส้นทางย่อยที่ 4009) หรือหากว่าท่านชอบที่จะเดินทางมาด้วยรถไฟ “สถานีรถไฟบ้านส้อง” ก็เปิดบริการรับใช้ประชาชนที่นี่มานานหลายปี...
..........อันนามว่า “บ้านส้อง” นั้นมีความเป็นมาอย่างไร หลายคนที่ได้ยินชื่อนี้คงต้องอดสงสัย ถึงที่มาที่ไปของเมือง ๆ นี้ไม่ได้แน่ ๆ (รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย) จากการพยายามค้นคว้า จึงได้คำตอบจากเรื่องเล่ามาว่า เมื่อนานมาแล้ว พื้นที่แถบนี้นั้น แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ ๆ มีขุมกำลังโจรปล้นสะดมอยู่เป็นจำนวนมาก ซ่องโจรที่ว่านั้น ตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟ จนถึงเขตเทือกเขาบรรทัดคุ้มปลายแพง ที่มองเห็นได้จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟ จึงเรียกพื้นที่แถบนี้ติดปากกันมาว่า “บ้านส้อง” จนมาถึงทุกวันนี้

* อ้างอิงจาก http://cddweb.cdd.go.th/wiangsra/information15/bansog/bansonghnear.htm


bansong 11

bansong 12

bansong 13

.............ตัวผู้เขียนเอง ในฐานะที่เป็นพลเมืองผู้หนึ่ง ที่เติบโตมาอย่างสงบสุขในเมือง ๆ นี้ ก็กล้ายืนยัน และนอนยันเลยว่า เรื่องตำนานอันน่ากลัวของโจรป่าในอดีตได้ผ่านพ้นไปนานมากแล้ว ทุกวันนี้ “บ้านส้อง” คือเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง ที่เจริญเติบโตอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจทางด้าน “การเกษตร” “ การค้า”และ “เหมืองแร่” คือลมหายใจหลักที่หล่อเลี้ยงเมือง ๆ นี้ไว้ ให้ดำรงอยู่ได้ในทุกวันนี้
.............และเนื่องมาจากตำบล “บ้านส้อง” ได้ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางการคมนาคมทางรถยนต์ ที่ตัดผ่านไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงเส้น “ทางรถไฟ” สายใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปต้องแล่นผ่าน “สถานีรถไฟบ้านส้อง” จึงทำให้เมืองบ้านส้อง ได้กลายเป็น “เมืองผ่าน” ที่สำคัญเมืองหนึ่งในเขตภาคใต้ตอนบนไปโดยปริยาย...

bansong 16

bansong 15

bansong 14

.............เมื่อผมตั้งใจพิจารณาเมือง “บ้านส้อง” ในมุมมองแบบนักท่องเที่ยว เพื่อตั้งใจค้นหา “เอกลักษณ์” ของเมือง ๆ ใดก็ตาม ที่ตนเองมีโอกาสได้ไปเยือน ก็ทำให้ผมได้มองเห็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองบ้านส้อง นั่นก็คือ “ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย” ที่ดำรงอยู่ร่วมกับ “สังคมกสิกรรมแบบชาวสวน” ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกัน อย่างผสมกลมกลืน และน่าสนใจ
.............และก็เนื่องจาก “บ้านส้อง” มีลักษณะเป็น “เมืองผ่าน” เรื่องราวและความเจริญต่าง ๆ จึงอาจจะผ่านเข้ามา และพร้อมที่จะจากไป โดยที่ใครบางคนอาจไม่ทันรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น ก็ทิ้งร่องรอยแห่งความทรงจำบางอย่างไว้ให้กับวิถีชีวิตแห่งชาวบ้านส้อง อย่างกลมกลืนและน่าสนใจ พร้อม ๆ กับสังคมกสิกรรมแบบดั้งเดิมที่ยังคงดำรงอยู่ อย่างเป็นกระดูกสันหลังให้กับเมืองบ้านส้องแห่งนี้มาโดยตลอดอีกด้วย
..............ผมจึงอยากจะนำพาทุกท่านไปสัมผัส ถึงตัวตนแห่งเมือง “บ้านส้อง” ที่แท้จริง ผ่าน “ภาพ” และ “เรื่องราว” ในมุมมองของผม กันนับจากนี้ครับ...

bansong 17

bansong 18

bansong 19

...........หากจะกล่าวถึงวิถีชีวิตแบบ “กสิกรรม” ที่ “ใครสักคน” สามารถดำรงชีวิตตนเอง และครอบครัวให้อยู่ได้อย่างสงบสุข ด้วยการทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว นั่นอาจเป็นวิถีชีวิตในแบบที่ “คนเมือง” หลายคนถวิลหา แม้กระทั่งตัวของผมเองก็ตาม ที่แอบอิจฉาอยู่ลึก ๆ ในยามที่มีโอกาสได้ขี่มอเตอร์ไซด์ไปเยี่ยมเยือนเขต “บ้านสวน” ที่อยู่ห่างจากตัวตลาดบ้านส้อง ออกไปแค่เพียงนิดเดียว
...........เพราะถึงแม้ตัวผมเองจะเป็นคนบ้านส้องโดยกำเนิด แต่เนื่องจากว่าครอบครัวตั้งรกราก และทำมาหากินอยู่ในตลาด จึงยอมรับโดยตรงเลยว่า ตนเองก็ไม่ได้มีโอกาสได้ออกมาเที่ยวเล่นในเขต “บ้านสวน” บ่อยนัก ในคราวนี้ เมื่อได้ตั้งใจขี่มอเตอร์ไซด์ออกมาสัมผัสกับชีวิตชาวสวนอย่างจริง ๆ จัง ๆ จึงได้เกิดความรู้สึกอิจฉาในวิถีชีวิตแบบนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเป็นความจริงที่ว่า เกษตรกรที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชาวสวน “ยางพารา” หรือสวน “ผลไม้” ต่างก็ดำรงชีวิตตนเองและเลี้ยงครอบครัวอยู่ได้ ท่ามกลางเรือกสวนอันร่มรื่นเหล่านี้ มานานแสนนานเต็มทีแล้ว

bansong 20

bansong 21



……...ใครบางคนอาจจะเคยเปรียบ “ทุเรียน” ไว้ว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” แต่สำหรับที่ตำบล “บ้านส้อง” แห่งนี้แล้วละก็ หลายคนคงอยากจะยกให้ “เงาะโรงเรียน” เป็นราชาแห่งผลไม้ของที่นี่มากกว่า นั่นก็เพราะว่าตำบล “บ้านส้อง” ถือได้ว่าเป็นที่พักพิงชั้นดีของเหล่าบรรดา “เงาะโรงเรียน” เนื่องจากว่าที่นี่ มีการเพาะปลูกเงาะโรงเรียนกันอย่างแพร่หลาย จะเป็นรองก็คงแค่เพียงอำเภอ “บ้านนาสาร” อำเภออันเป็นแหล่งต้นกำเนิดของ “เงาะโรงเรียน” อันโด่งดังของจังหวัด “สุราษฎร์ธานี” นั่นเอง
............ก็เพราะเนื่องจากว่า โดยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้วอำเภอ “บ้านนาสาร” และอำเภอ “เวียงสระ” นั้น เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ติดกัน (จริง ๆ แล้วตำบล “บ้านส้อง” นั้น ได้เคยอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอ “บ้านนาสาร” มาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป) จึงการันตีได้เลยว่า เงาะโรงเรียนที่มีปลูกกันอยู่อย่างแพร่หลายที่ตำบล “บ้านส้อง” นั้น เป็นเงาะโรงเรียน “พันธุ์แท้” ที่มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยเช่นเดียวกับเงาะโรงเรียน “บ้านนาสาร” ที่โด่งดังขจรขจายไปไกล รับประกันได้เลย...

bansong 22

...........เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจแทนผลไม้อื่น ๆ ที่ปลูกในบ้านส้อง ที่อาจจะถูกความโด่งดังของ “เงาะโรงเรียน” บดบังรัศมีไปบ้าง แต่ทว่าความเป็นจริงแล้ว ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้นั้น เป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกผลไม้มาช้านานแล้ว โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ทุกชนิดเช่น มะม่วง มังคุด ลองกอง ลางสาด ทุเรียน ฯลฯ ล้วนมีปลูกอยู่อย่างมากมายที่นี่ ส่วนเรื่องรสชาติก็คงต้องขอรับประกันเลยว่า ผลไม้หลาย ๆ ชนิดที่เจริญงอกงามอยู่ทางภาคใต้นั้น ล้วนขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของความอร่อยมานานแล้ว....
...........ก็อยากจะขอเชิญชวนผู้ที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน “กรกฎาคม – ตุลาคม” อันเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว “ผลไม้” ที่กำลังผลิดอกออกผล โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่นิยมในรสชาติของผลไม้เหล่านี้ ที่นี่ก็คงไม่ผิดไปจากแดนสวรรค์ของท่าน กับโอกาสที่จะได้เยี่ยมชมสวนผลไม้ที่กำลัง “ลูกดก” มากมายอยู่เต็มต้น รอให้ท่านได้ลองลิ้มชิมรส และซื้อหากันในราคาพิเศษ หรือหากว่าท่านโชคดี ก็อาจมีโอกาสได้ลิ้มลองในเเบบที่เรียกว่า “เด็ด” ทานกันสด ๆ จากต้นได้เลยทีเดียว...

bansong 23

bansong 24

bansong 26

..............ถึงแม้ว่าการปลูกผลไม้นั้นอาจเป็นสิ่งที่สร้างชีวิตชีวา และสร้างสีสันบางอย่างให้กับตำบลบ้านส้องแห่งนี้ แต่ว่าพืชเศรษฐกิจที่แท้จริงสำหรับที่นี่นั้น หาใช่เงาะ ทุเรียน หรือผลไม้ใด ๆ ไม่ หากแต่เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ที่เปลือกและลำต้น สามารถหลั่งน้ำยางสีขาวออกมาแล้วให้เกษตรกรนำไปขายได้ นั่นก็คือพืชเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “ยางพารา” ซึ่งเป็นพีชสวนที่มีการปลูกกันมากที่สุดในเขตภาคใต้
..............ก็เพราะโดยธรรมชาติของต้นยางพารา ที่สามารถผลิตน้ำยางออกมาได้ตลอดทั้งปี ทำให้ “ยางพารา” ได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบลบ้านส้องไปโดยปริยาย ก็เพราะการปลูก และขายยางพารานี่เอง ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของที่นี่มีเงินหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี จากเงินรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่นำเงินมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครก็ตามที่ได้มาเยือน 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว จะได้พบกับภาพที่คุ้นตาของ “สวนยางพารา” ที่มีปลูกอยู่อย่างมากมาย ดาษดื่นสองข้างทาง รวมถึงตำบล “บ้านส้อง” แห่งนี้ด้วย...

bansong 27

bansong 28

bansong 29

..........นับย้อนไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ขยายเส้นทางรถไฟทั่วประเทศไปให้จนสุดพรหมแดน ทิศเหนือให้ขยายไปจนถึงเชียงใหม่และทิศให้ขยายต่อไปจนถึง ปาดังเบซาร์ (มาเลเซีย) เพื่อความเจริญพัฒนาของการคมนาคมขนส่งให้ทั่วประเทศ ดังนั้นกำเนิดของสถานีรถไฟบ้านส้อง จึงน่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ในสมัยรั่ชกาลที่ 6...
.........และว่ากันว่าเมื่อเกือบ ๗0 – ๘0 ปีก่อน (ย้อนจากปี 2552) พื้นที่หลาย ๆ จังหวัดทางภาคใต้ ก็ได้มีการสำรวจค้นพบ “แร่ธาตุ” ที่สำคัญใต้ผืนดินอย่างมากมาย เช่นแร่ “ยิปซั่ม” “ ดีบุก” และ “วุลแฟรม” จึงก่อให้เกิดความตื่นตัวในการทำ “เหมืองแร่” ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ในยุคนั้น รถไฟ “สายใต้” จึงถูกใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการคมนาคมของชาวบ้าน นั่นก็คือถูกใช้ในการ “ขนแร่” ที่ขุดได้เหล่านั้นนั่นเอง

bansong 30

bansong 31

bansong 32


...............ยกตัวอย่างเช่นที่ “สถานีรถไฟบ้านส้อง” มีการใช้พื้นที่บางส่วน เป็นจุดพักแร่ “ยิปซั่ม” ที่มีมากในแถบนี้ แล้วใช้รถไฟ “บรรทุก” เข้าสู่โรงงานอีกทอดหนึ่ง และกองแร่ยิปซั่มมากมายที่สถานีรถไฟบ้านส้องนี่เอง ที่เป็นภาพที่ชาวบ้านส้องเห็นมานานจนชินตา จนทำให้ใครหลายคนเคยแอบขนานนามแร่ยิปซั่มจำนวนมากมายเหล่านี้ว่า เป็นกอง “หิมะ” แห่งบ้านส้องกันมาแล้ว
..............พร้อม ๆ กับเรื่องราวในยุค “ตื่นแร่” (พ.ศ. 2516-2518) ที่สถานีรถไฟบ้านส้อง เคยถูกใช้เป็นชุมทางของนักแสวงโชค ในการเดินทางไปขุดแร่ “วุลแฟรม” บนภูเขา “สูญ” ที่ห่างไกล ว่ากันว่าในยุคตื่นแร่นี้เอง ที่เป็นยุคสมัยที่คึกคักที่สุดของตลาดบ้านส้อง อันเนื่องจากนักแสวงโชคมากหน้าหลายตา ที่หลั่งไหลกันเข้ามาเพื่อใช้ตลาดบ้านส้องเป็นจุดต่อรถ ในการเดินทางต่อไปยังแหล่งขุดแร่
..............จนถึงการสิ้นสุดของยุค “ตื่นแร่” ที่ต้องจบลงอย่างรวดเร็วก่อนเวลาอันควร เนื่องมาจากการทะเลาะเบาะแว้งกันเองของนักแสวงโชคเหล่านั้น จนทำให้ “รัฐบาล” ต้องสั่งห้ามไม่ให้มีการขุดแร่ในบริเวณที่ว่านั้นอีกต่อไป...

bansong 33

.............หลังจากหมดสิ้นยุคสมัยแห่งการแสวงโชค พร้อม ๆ กับเศรษฐกิจของตลาดบ้านส้องที่ต้องซบเซาตามไปด้วย หลายปีผ่านไป “ตลาดบ้านส้อง” กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง จากโอกาสทาง “การค้า” ที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อม ๆ กับการกำเนิดของ “ทางหลวงแผ่นดินสายที่ 41” หรือ “ถนนเอเชีย” ที่ตัดผ่านพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านส้อง ทำให้การเดินทางคมนาคมระหว่างพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศกับตำบลบ้านส้องนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายดายขึ้นกว่าในอดีตอีกมาก
...............ก็เพราะความได้เปรียบทางด้านทำเลของการคมนาคมที่เอง ที่ทำให้ทุกวันนี้ “บ้านส้อง” ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะ “สินค้าทางการเกษตร” ให้กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่น ที่หลั่งไหลมาสู่ตลาดบ้านส้อง เพื่ออาศัยที่นี่เป็นจุดพักแลกเปลี่ยนสินค้า ทำให้มีเงินตรากลับมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดบ้านส้องอีกครั้งหนึ่งจนมาถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นการเติบโตในมิติใหม่ของตลาดบ้านส้อง ที่สุดท้ายแล้วเมืองนี้อาจไม่ได้เป็นเมืองที่มีอัตตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หวือหวา แต่ทุกวันนี้ “บ้านส้อง” ก็ไม่ใช่เมืองจะหยุดนิ่ง ซบเซาเพื่อรอวันเหี่ยวเฉาอีกต่อไปแล้ว

Photobucket

bansong 35

...............ต่อไปก็อยากจะขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบล “บ้านส้อง” นั่นก็คืออุทยานแห่งชาติ “ใต้ร่มเย็น” อันเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคใต้ หรือที่ชาวบ้านส้องรู้จักกันในนามของหมู่บ้าน “เหนือคลอง” อันมีจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอยู่ที่น้ำตก “สามห้าเจ็ด” โดยที่มาจากการที่ขบวนการ “คอมมิวนิสต์” ที่เคยใช้หุบเขาแห่งนี้ เป็นฐานที่มั่นทางการทหารเมื่อครั้งอดีต จึงนำเอาชื่อฐานที่มั่นนั้นมาตั้งเป็นชื่อน้ำตกว่า “สามห้าเจ็ด” ...
...............อุทยานแห่งชาติ “ใต้ร่มเย็น” มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 265,625 ไร่ ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.บ้านนาสาร และ อ.เวียงสระ พื้นที่ของอุทยานเป็นเขตเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดตัวในแนวยาวเหนือใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญส่วนหนึ่งของแม่น้ำ “ตาปี” อันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัด “สุราษฎร์ธานี” สำหรับชาว “บ้านส้อง” จะเรียกอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ในชื่อสั้น ๆ ว่า “เหนือคลอง” เพราะว่าอุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ “หมู่บ้านเหนือคลอง” อันเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่ง ในเขตตำบลบ้านส้องนั่นเอง

bansong 36

...............การเดินทางมาเยือนอุทยานแห่งชาติ “ใต้ร่มเย็น” แห่งนี้ทำได้ไม่ยากเลย ให้ใช้เส้นทางสายสุราษฏร์- นครศรีธรรมราช (ถนนหมายเลข 4009) ให้สังเกตป้ายบอกทางไปยัง “บ้านเหนือคลอง” ซึ่งจะอยู่ช่วงระหว่างรอยต่อของ “ตำบลบ้านส้องกับตำบลห้วยปริก” อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเห็นป้าย “บ.เหนือคลอง” แล้ว ก็ให้เลี้ยวเข้าไปตามป้ายได้เลย ก็จะเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นทันที
...............ฉับพลันที่ใครก็ตามได้เข้ามาเยี่ยมเยือนอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ท่านก็จะได้พบกับบรรยากาศอันสงบสุขของหมู่บ้าน “ชาวสวน” ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาลำเนาไพร อันมีสายน้ำใสไหลเย็นที่สะอาดบริสุทธิ์ไหลผ่านตลอดทาง อันเป็นเส้นทางนำไปสู่น้ำตก “สามห้าเจ็ด” ที่ได้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของป่าลึกอันงดงาม ที่น้อยคนนักจะได้มาเยือน
...............ปัจจุบันการเข้ามาท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ “ใต้ร่มเย็น” แห่งหมู่บ้านเหนือคลองนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นเลย เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้มีการสร้างถนนหนทางอย่างทั่วถึง ทำให้การมาท่องเที่ยวในอุทยานโดยเฉพาะการใช้ “รถส่วนตัว” สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสะดวกสบายเป็นอย่างมาก

bansong 37

bansong 38

bansong 39

...............ที่นี่มีสถานที่ ๆ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแนว “ครอบครัว” ที่ไม่อยากเดินทางลึกเข้าไปในอุทยานจนเกินไปให้สามารถเล่นน้ำเป็นระยะ ๆ หรือถ้าอยากมาท่องเที่ยวแนวสงบ ๆ ส่วนตัวขึ้นไปอีกนิด ที่นี่ก็มี “บ้านพักอุทยาน” ไว้ให้บริการในเขตอุทยานที่อยู่ลึกเข้าไปจากทางเข้าอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่ง “บ้านพักอุทยาน” ที่ว่านี้ก็ตั้งอยู่ในบริเวณของเส้นทางเดินเท้าไปสู่น้ำตกน้ำตก “สามห้าเจ็ด” ซึ่งมีระยะทางห่างจากที่ทำการอุทยานไปถึงตัวน้ำตกอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เท่านั้น
...............ระหว่างทางเดินไปสู่ตัวน้ำตกนี้เอง ที่จะทำให้ท่านได้รับประสบการณ์การเดินป่าแบบที่ไม่ยากลำบากจนเกินไป แต่ก็จะได้สัมผัสกับบรรยากาศบริสุทธิ์ ท่ามกลางร่มเงาของป่าเขาเขต “ร้อนชื้น” ที่ยังสมบูรณ์สวยงามในระหว่างเส้นทางเดินไปสู่น้ำตกตัวน้ำตกนั่นเอง
...............และจุดเด่นที่สำคัญของน้ำตก “สามห้าเจ็ด” หาได้อยู่ที่รูปลักษณ์ที่สวยงามเหนือน้ำตกชื่อดังอื่น ๆ ไม่ หากแต่ “เสน่ห์” ที่แท้จริงของน้ำตกแห่งนี้นั้น น่าจะอยู่ที่สภาพความงดงามอันบริสุทธิ์ทางธรรมชาติ ที่ยังไม่ได้ผ่านการเหยียบย่ำจากนักท่องเที่ยวภายมากนัก จึงทำให้ยังคงสภาพความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความสะอาดบริสุทธิ์สวยงามอยู่ได้ จนมาถึงทุกวันนี้

* ติดต่อที่ทำการอุทยาน (ที่พัก) 0-7734-4633 , 081-829-4469 (สุกฤติ์)

* อ้างอิงจาก

http://www.tour.co.th/tour.php?p_id=39&t_id=1823

http://www3.suratthani.go.th/km/index-34.htm

http://www.thaisurat.com/bannasan-357.htm

http://203.144.136.10/service/mod/heritage/nation/nationalpark/index48.htm

bansong 40

bansong 41

bansong 42

...............ต่อไปก็อยากจะขอแนะนำอาหาร “ร้านอร่อย” ประจำเมืองบ้านส้องกันสักนิด ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่ามาเยือนเมืองใต้แล้วคงต้องแนะนำ “ข้าวแกงปักษ์ใต้” แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
...............ก็คงต้องขอเคลียร์กับท่านผู้อ่านกันก่อนว่า จริง ๆ แล้ว “ข้าวแกงบ้านส้อง” นั้น ก็ถือว่าเป็นอาหารขึ้นชื่อของที่นี่เหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าที่นี่คือ “เมืองใต้” ดังนั้น “ข้าวแกงปักษ์ใต้” จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำรับประทานกันเองอยู่แล้ว ไอ้ครั้นจะออกมาหาซื้อ “ข้าวแกง” ทานกันนอกบ้านอีกนั้น จึงเป็นสิ่งที่ขัดกับวิถีชีวิตทั่วไปอยู่สักหน่อย ดังนั้นของกินที่ “ขึ้นชื่อ” หรือ “ขายดี” ในสายตาของชาวตลาดบ้านส้องก็คงไม่ใช่ “ข้าวแกง” ที่เป็นอาหารธรรมดา ๆ เป็นแน่
................สำหรับ “อาหาร” ที่ผมจะขอทำการแนะนำต่อไปจากนี้ ก็อาจจะดูว่าเป็นอาหารที่แสนจะธรรมดา ในสายตาชาวบ้านชาวเมืองอื่น ๆ อยู่สักนิด แต่ที่ผมกล้าการันตีของกินนี้ให้เป็น “ร้านอร่อย” ประจำตลาดบ้านส้องนั้น ก็เนื่องจากความ “ขายดีมาก” ของอาหารร้านนี้ ที่ผมคงต้องขออนุญาติใช้ “ภาพ” มายืนยันให้กับท่านผู้อ่านดูกันเอาเองว่า “โจ๊กหมูใส่ไข่” อาหารเช้าที่สุดแสนจะธรรมดา มันมีความน่าสนใจยังไงที่ผมจึงอยากขอ “ท้า” ให้ทุกท่านมาลองชิม (ถ้ารอคิวได้) นั่นก็คือ “โจ๊กหมู” สูตรโบราณร้าน“เจ๊จิ๋ม” โจ๊กร้านดังหลังสถานีรถไฟบ้านส้องนั่นเอง.....

bansong 43

...............เกือบ 40 ปีแล้ว ที่โจ๊กหมูร้าน “เจ๊จิ๋ม” ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทั้ง ๆ ที่ร้านโจ๊กในตลาดบ้านส้องก็ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่ร้านเดียว “การันตี” ความอร่อยกันได้จากคิวอันยาวเหยียดของลูกค้า ที่มารุมซื้อกันทุกวัน จนเจ๊จิ๋มแกแทบจะทำขายไม่ทัน ต้องอาศัย “ลูกค้าประจำ” ช่วยเป็น “ลูกมือ” ให้เป็นเนือง ๆ เริ่มตั้งร้านกันตั้งแต่ประมาณตี 5 ก็ขายหมดเก็บร้านกันตั้งแต่ยังไม่ทันจะสาย
...............จุดเด่นของ “โจ๊กเจ๊จิ๋ม” นั้น น่าจะอยู่ที่วิธีการปรุงโจ๊กที่ค่อนข้างพิถีพิถันหลายขั้นตอน โดยเจ๊จิ๋มแกจะตัก “โจ๊ก” และ “น้ำซุป” มาคนให้เข้ากันในหม้อใบเล็กก่อน จากนั้นจึงทำการลวก “หมูสับ” ไปในขั้นตอนนี้พร้อม ๆ กัน แล้วจึงตักโจ๊กหมูที่คนเสร็จแล้วมาใส่ชามที่ผสมเครื่องปรุงรอไว้ จากนั้นจึงเสริฟพร้อมขิงซอยและต้นหอมที่หั่นไว้อย่างบาง พร้อมไข่ไก่ หรือ ไข่นกกระทา แล้วแต่ความชอบใจ จึงกลายมาเป็น “โจ๊กหมูใส่ไข่” สูตรดั้งเดิมที่เนื้อโจ๊กที่ไม่ข้นและไม่เหลวจนเกินไป และอร่อยจนกลายเป็น “ร้านโจ๊ก” เจ้าประจำของชาวตลาดบ้านส้องมาช้านาน ก็อยากให้ผู้ที่มีโอกาสผ่านมาแถวนี้ได้มาลองแวะชิมดู ว่าโจ๊กร้านนี้เค้ามีดียังไง ถึงได้ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขนาดนี้...

* หมายเหตุ : ชาวบ้านส้องจะเรียก “โจ๊ก” ว่า “ข้าวต้ม”

bansong 44

bansong 45

bansong 46

.................แนะนำร้านอาหารเช้าอย่าง “โจ๊ก” กันไปแล้วก็คงอดขอแนะนำ “ของคู่กัน” กับร้าน “โจ๊กเจ๊จิ๋ม” ไปไม่ได้ นั่นก็คือ “ร้านกาแฟโกโหน่ง” ที่อยู่เยื้องร้านเจ๊จิ๋มไปอีกนิดเดียวเท่านั้น
.................“ร้านกาแฟโกโหน่ง” เป็นร้านกาแฟเจ้าเก่าดั้งเดิมของตลาดบ้านส้องอีกเจ้าหนึ่ง ร้านตั้งอยู่ที่ข้างป้อมตำรวจ หลังสถานีรถไฟบ้านส้อง ซึ่งก็อยู่เยื้อง ๆ กันกับร้านโจ๊กเจ๊จิ๋มเพียงแค่ข้ามฟากถนน ซึ่งทั้งสองร้านนี้จริง ๆ แล้วเป็นร้านพี่ร้านน้องกัน เพราะ “โกโหน่ง” เจ้าของร้านกาแฟนั้นเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของ “เจ๊จิ๋ม” ร้านโจ๊กนั่นเอง
.................จุดเด่นของร้านแกแฟโกโหน่ง นอกจากจะเป็นร้านกาแฟ “เจ้าเก่า” ดั้งเดิมร้านหนึ่งของตลาดบ้านส้องแล้ว ด้วยรสชาติดี ๆ ของกาแฟโบราณที่การันตีได้ แถมยังมี “ปาท่องโก๋” สูตรเฉพาะของที่นี่ที่ไม่ใส่ “แอมโมเนีย” จนอยากเชื้อเชิญให้คอกาแฟขนานแท้ได้มาลิ้มลอง สัมผัสกับบรรยากาศการดื่มกาแฟแบบชาวบ้านส้อง พร้อม ๆ กับร่วมสนทนาไปกับบรรดาคอกาแฟ คนเก่าคนแก่ของตลาดบ้านส้อง ที่มักจะมารวมตัวกันสนทนาเรื่องทั่วไปกันอยู่เป็นประจำ แถมด้วยอัธยาศัยใจคออันกว้างขวางของ “โกโหน่ง” ที่ต้องถือว่าเป็น “คนดัง” คนหนึ่งของตลาดบ้านส้องที่ไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จัก นั่นเพราะความเป็นคนอัธยาศัยดีของ “โกโหน่ง” นั่นเอง ที่แกพร้อมจะปล่อยมุขตลก มุกฮาออกมา คลายเครียดให้กับทุก ๆ คนที่อยู่รอบตัวแกได้ตลอดเวลา ( ถ้าคุณฟังภาษาปักษ์ใต้ออกนะ )

*หมายเหตุ : ชาวบ้านส้องนิยมเรียก “ปาท่องโก๋” ว่า “จั๊กโก้ย”

bansong 47

bansong 48

bansong 49

.............มี “ของอร่อย” อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะนำเสนอจริง ๆ สำหรับ “ไก่ทอดสูตรเฉพาะ” ที่คิดว่าจะหารับประทานไก่ทอดรสชาติแบบนี้ไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว นอกจากที่ตลาดบ้านส้องแห่งนี้ กับไก่ทอดร้านเล็ก ๆ แถวย่านชุมชนเก่าหน้าสถานีรถไฟบ้านส้อง ที่ชื่อว่า “ร้านป้ายอม” กับไก่ทอดดั้งเดิมสูตร 40 ปี ที่ขายกันมาตั้งแต่รุ่นคุณป้า สืบทอดกันมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน อันเป็นที่กล่าวขานของลูกค้าประจำว่า ถ้าหากใครเคยได้กินไก่ทอดร้านนี้แล้ว ก็แทบจะลืมรสชาติของไก่ทอดร้านอื่น ๆ ไปนาน
............ที่มาของไก่ทอดร้านนี้นั้นมีอยู่ว่า เดิมที “ป้ายอม” แกเป็นแม่ค้าทอดไก่ เดินเร่ขายอยู่ตามโบกี้รถไฟที่มาจอดในสถานีรถไฟบ้านส้องนั่นแหละ แต่ไป ๆ มา ๆ รสชาติความอร่อยไก่ทอดของ “ป้ายอม” ชักจะเริ่มโด่งดังจนเป็นที่โจษขานของชาวบ้านแถวนั้นที่เคยได้ชิมไก่ทอดป้ายอม ทีนี้พอเริ่มมีลูกค้าประจำมากเข้า ๆ “ป้ายอม” แกก็เลยเลิกเดินเร่ขายไก่ทอดตามโบกี้รถไฟ หันมาเปิดแผงทอดไก่ของตัวเองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนมาถึงทุกวันนี้
.............จุดเด่นของไก่ทอดร้านนี้ ก็คงอยู่ที่ “แป้งไก่ทอด” ที่ทอดได้กรอบอร่อย และหอมกลิ่น “เครื่องเทศ” สูตรเฉพาะของป้ายอมที่หอมหวลเย้ายวนใจ ก็ขอแนะนำให้รับประทาน “ไก่ทอดป้ายอม” กันตอนร้อน ๆ รับรองว่าได้ลืมไก่ทอด KFC กันไปอีกนานเลยทีเดียว..... ใครมีโอกาสมาเยือนเมืองบ้านส้อง แล้วอยากจะลองชิมไก่ทอด 40 ปีสูตร “ป้ายอม” ดูสักครั้งล่ะก็ แผงไก่ทอดป้ายอมนั้นเริ่มทอดขายกันตั้งแต่ประช่วงบ่าย ๆ และขายหมดทุกวันไม่เกินหกโมงเย็น เชิญไปชิมดูได้


bansong 50

bansong 51

bansong 52

..............ก็อยากจะขอแนะนำ “ที่พัก” สำหรับผู้ที่มีโอกาสเข้ามานอนพักค้างคืนที่เมือง “บ้านส้อง” แห่งนี้ ก็มีที่พักที่คิดว่าน่าจะสะอาด และสะดวกสบาย เหมาะสมกับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก แล้วก็ตั้งอยู่ในทำเลที่ค่อนข้างสงบ แต่ก็ห่างจาก “ตลาดบ้านส้อง” เพียงไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรเท่านั้นเอง...
.............นั่นก็คือ “โรงแรมเวียงสระธานี” ที่เป็นที่พักชั้นดีเพียงไม่กี่แห่งของตำบลบ้าน ผมจึงอยากจะขอแนะนำที่นี่ ไว้สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้เข้ามาพักผ่อน และเยี่ยมเยือนเมืองบ้านส้องแห่งนี้
..............โดยเริ่มต้นจากถนนหน้าสถานีรถไฟบ้านส้อง เส้นที่ตรงไปยังเทือกเขาบรรทัด (มีเส้นเดียว) ผ่านร้านไก่ทอดป้ายอม ตรงไปอีกไม่เกินสามร้อยเมตร ก็จะเห็น “โรงแรมเวียงสระธานี” อยู่ทางซ้ายมือนั่นเอง เป็นโรงแรมสองชั้น ขนาด 20 ห้องพัก มีห้องสัมมนาและจัดเลี้ยงด้วย...

ราคาห้องพัก “โรงแรมเวียงสระธานี”

ห้อง “แอร์” คืนละ : 450 บาท
ห้อง “พัดลม” คืนละ : 350 บาท

ติดต่อ : 0-7736-1064 , 0-7725-8338-9

bansong 53

bansong 54

bansong 55

bansong 56

.............ก็คงเดินทางถึงบทสุดท้ายของสารคดีเรื่องนี้แล้ว ที่ผ่านมาผมก็คงจะกล่าวถึงตำบล “บ้านส้อง” ได้แค่เพียงในมุมมองของคนท้องถิ่น ที่พยายามมองเข้าไปใน “เรื่องราว” หรือ “จุดเด่น” เท่าที่จะหาได้ ในเมืองเล็ก ๆ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง เพื่อสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับตนเองและท่านผู้ที่มีโอกาสได้อ่านสารคดีเรื่องนี้
.............ถึงแม้หลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่ผมค้นพบ และนำมาบอกเล่า อาจไม่ได้เป็นตำนาน หรือเรื่องราวที่สวยหรูอย่างที่ใครพยายามจะจินตนาการเอาไว้ ว่าอดีตของผืนแผ่นดินของเรานั้นควรจะมีแต่สิ่งที่สวยงาม หากแต่เป้าหมายที่แท้จริงของผมก็คือการ “แนะนำ” ให้ผู้อ่าน ได้เกิดความ “เข้าใจ” แง่มุมที่แท้จริงของเมืองเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ที่ไม่เคยมีใครให้ความสนใจมาก่อน แต่ก็เป็นเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยผู้คน ที่ยังคงมีชีวิตชีวาและลมหายใจ โดยที่ผมก็ไม่ได้ปรุงแต่งภาพลักษณ์ต่าง ๆ ให้สวยงาม จนเกินความเป็นจริงมากไปนัก

bansong 57

.............สุดท้ายแล้วในสายตาของผมตำบล “บ้านส้อง” ก็คงดำรงอยู่ในจุดยืนของการเป็น “เมืองผ่าน” อยู่ต่อไป เนื่องจากอุปสรรค์หลายอย่าง ที่ทำให้ใคร ๆ ไม่อาจ “คิด” ผลักดันให้ “บ้านส้อง” กลายเป็นเมืองที่น่าสนใจในด้านของการท่องเที่ยวขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเพณี และวัฒนธรรม ที่ตำบลบ้านส้องยังไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน หรือแม้แต่ทำเลที่ตั้งที่ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอื่น ๆ อยู่พอสมควร และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือสภาพอากาศแบบ “ร้อนชื้น” ของภาคใต้นี่เอง ที่เป็นอุปสรรค์สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย และความสมบูรณ์แบบจากการท่องเที่ยว
.............หากแต่ว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน หากใครสักคนจะลองมองข้ามอุปสรรค์ที่ว่าออกไป แล้วลองพิจารณาดูเมือง “บ้านส้อง” ในอีกแง่มุมมองหนึ่ง ก็พอจะมองเห็นเสน่ห์ในการมาเยือนยังเมืองเล็ก ๆ เมืองนี้ขึ้นมาได้บ้างเหมือนกัน

bansong 58

.............อย่างแรกก็ต้องถือว่าเมือง “บ้านส้อง” นั้นไม่เคยถูกบรรจุอยู่ในสาระบบของ “การท่องเที่ยวของไทย” มาก่อนเลย ทั้ง ๆ ที่ตัวเมืองบ้านส้องเอง ก็มีสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่พอจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหารการกิน เส้นทางคมนาคมที่สะดวก หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่พอจะมีความจุดเด่นอยู่บ้าง จึงถือได้ว่าเมือง “บ้านส้อง” ในขณะนี้ยังเป็นเมืองที่บริสุทธิ์อยู่มาก สำหรับแง่มุมของการท่องเที่ยว
..............ที่นี่ยังอาจเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ที่ต้องการมาเยือนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือผู้ที่พอจะมีเวลาว่างเหลือเฟือจากการเดินทางผ่านมา แล้วอาจจะลองแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน เพื่อชื่นชมกับบรรยากาศเก่า ๆ ของเมือง “บ้านส้อง” ในแง่มุมต่าง ๆ ดูได้ หรือแม้แต่กระทั่งสำหรับนักท่องเที่ยวมืออาชีพ ที่อาจจะเบื่อแล้วสำหรับการท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ๆ แล้วต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกและแตกต่าง ในการบุกเบิกสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ซึ่งผมคิดว่าเมือง “บ้านส้อง” นี้ก็พอจะมีศักยภาพเพียงพอ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวในแง่มุมแบบนี้ได้
...............ก็ด้วยเนื่องจากว่าปีนี้เป็นปีแห่งการณรงค์การท่องเที่ยวแบบ “ไทยเที่ยวไทย” ก็อยากจะเชิญชวนทุกท่าน ที่ยังคงมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะทำการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ ให้ลองมาเยือนเมือง “บ้านส้อง” ดูบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา ให้พอจะกลับมามีสีสันขึ้นมาได้บ้าง จากอาคันตุกะแปลกหน้าจากแดนไกล ที่ได้มาเยือนเมืองที่ไม่เคยมีใครสนใจมาก่อน อย่างเมือง “บ้านส้อง....บ้านของฉัน” กัน ณ. โอกาสนี้ด้วย.........ขอบคุณมากครับ


bansong 59

พิเศษ!!! โปรแกรมท่องเที่ยว “บ้านส้อง”

ต่อไปนี้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเมือง “บ้านส้อง” โดยประมวลมาจากสถานที่ที่น่าสนใจทั้งหมด เท่าที่ผมได้สำรวจไว้ เพื่อเป็นแนวทางไว้สำหรับผู้ที่อยากจะใช้เวลาทำความรู้จักกับเมือง “บ้านส้อง” ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยแผนการท่องเที่ยวต่อไปนี้ครับ......

* 6.00 – 7.00 น. : ตื่นเช้ามาทานอาหารเช้า “โจ๊กหมูเจ๊จิ๋ม” หรือจะต่อด้วยกาแฟร้าน “โกโหน่ง”
* 8.00- 9.00 น. : เดินดูบรรยากาศแถว “สถานีรถไฟ” หรือ “ตลาดเก่าบ้านส้อง” ก็ตามสะดวก
* 10.00 – 12.00น. : เยี่ยมชม “วัดเวียงสระ” สำรวจโบราณสถานคู่บ้านคู่เมือง
* 12.00 น. : รับประทานอาหารกลางวันในเมือง (ยังมีร้านอาหารดี ๆ อีกมากมาย)
* 13.00 น. - 16.00 น. : เที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ “ใต้ร่มเย็น” สำรวจน้ำตก “สามห้าเจ็ด”
*17.00น -18.00 น. : ระหว่างกลับมาในเมือง ขี่รถ “ชมสวน” แล้วจะแวะซื้อ “ไก่ทอดป้ายอม”
* 19.00 น. - ราตรีสวัสดิ์ : แวะซื้ออาหารเย็นที่ตลาดของกินอีกครั้ง หรือจะหาร้านรับประทานในเมือง


.........เนื่องจากบ้านส้องเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก หากวางแผนการเดินทางดี ๆ ก็สามารถเที่ยวชม
สถานที่สำคัญ ๆ ของบ้านส้องได้ทั้งหมดภายใน 1 วัน (ถ้าโชคดี) แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ใช้เวลากับ
เมืองนี้อย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป สัก 2 - 3 วัน เดินเล่นกันแบบไม่ต้องรีบเร่งมาก ก็น่าจะเป็น
การสัมผัสกับเมือง “บ้านส้อง” ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากกว่าครับ.....


ติดต่อผู้เขียนได้ที่ : bansong_town@hotmail.com


หรือติดต่อ : 0-7736-1448 และ 089-652-3196 เรียก “บ๊อบบี้” (พี่ชายของผู้เขียน)
สำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำ และการอำนวยความสะดวก